วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกNews"ไทยเฮลท์ เดย์ รัน 2019" สุดคึกคัก นักวิ่ง 6 พันคน ร่วมมือยกระดับมาตรฐานสู่งานวิ่งต้นแบบเพื่อสุขภาพตามหลัก 'safe, fun, fair'

“ไทยเฮลท์ เดย์ รัน 2019” สุดคึกคัก นักวิ่ง 6 พันคน ร่วมมือยกระดับมาตรฐานสู่งานวิ่งต้นแบบเพื่อสุขภาพตามหลัก ‘safe, fun, fair’

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 ที่บริเวณสวนหลวงพระราม 8 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)คนที่ 1 เป็นประธานเปิดงาน กิจกรรมเดินวิ่ง “ไทยเฮลท์ เดย์ รัน 2019” ( Thaihealth Day Run 2019 ) ครั้งที่ 8 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในวาระครบรอบ 18 ปี สสส. โดยการแข่งขันแบ่งเป็น 3 ระะทางคือ 10 กม. 5 กม. และ 3 กม. นักวิ่งทุกคนจะได้รับเสื้อที่ระลึกและเหรียญเมื่อเขา้สู่เส้นชัย นอกจากนี้ ยังมีหมวกที่ระลึกสำหรับผู้เข้าถึงเส้นชัย 100 คนแรก ด้วยเช่นกัน

ภายในงาน ดร.สาธิต ได้ร่วมวิ่งมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมี ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษากรรมการ สสส., ดร.แดเนียล เคอร์เตซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก, ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. และ นายประสาร จิรชัยสกุล ประธานมูลนิธิสมาพันธ์ ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย ร่วมกิจกรรพร้อมกับนักวิ่งกว่า 6,000 คน

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.และสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทยถือเป็นผู้ริเริ่มการวางมาตรฐานการจัดงานวิ่ง โดยได้จัดทำคู่มือ 2 ฉบับ คือ 1.คู่มือการจัดกิจกรรมวิ่ง ประเภทถนน เพื่อเป็นคำแนะนำให้การจัดการแข่งขันวิ่งประเภทถนนมีมาตรฐานสูงในระดับที่สามารถจัดเกรด หรือติดป้ายรับรองของ IAAF กติกาและคำแนะนำที่เป็นสากลพึงปฏิบัติ เพื่อให้การจัดการแข่งขันมีความปลอดภัยและเกิดความเท่าเทียมกัน และ 2.ข้อปฏิบัติที่ดีในการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน ที่นำมาใช้กับการจัดงานวิ่งในประเทศไทย โดยเน้นการจัดงานวิ่งเพื่อสุขภาพเป็นไกด์ไลน์สำหรับผู้จัดงานวิ่ง โดยยืดหลัก ‘Safe, Fun, Fair’ ซึ่งได้มีการนำไปใช้กับการจัดงานที่สสส. สนับสนุน เพื่อเป็นต้นแบบของงานวิ่งเพื่อสุขภาพ เกิดการจัดงานวิ่งที่มีมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้นักวิ่งมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกาวิ่งที่ปลอดภัย มีการเตรียมพร้อมก่อนวิ่ง ศึกษาและเคารพกฎกติกามารยาทการวิ่ง รวมถึงเข้าใจหลักการกินที่ถูกต้อง ทั้งก่อนและหลังวิ่ง และให้การวิ่งเพื่อสุขภาพ เป็นชีวิตดีๆ ที่เริ่มที่ตัวเราเอง และวิ่งจนเป็นวิถีชีวิต

ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ภาพรวมของประเทศ สสส.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ผลักดันให้เกิดแผน ส่งเสริมกิจกรรมทางกายชาติ พ.ศ.2561-2573 ฉบับที่ 1 มีเป้าหมายให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉงด้วยกิจกรรมทางกาย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายประชาชนทุกกลุ่มวัย 2. การส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการกิจกรรมทางกาย และ 3. การพัฒนาระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย หากคนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้ถึง 11,129 รายต่อปี และลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้ถึง 5,977 ล้านบาท

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ส่งเสริมให้คนไทยในแต่ละกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ซึ่งผลการสำรวจกิจกรรมทางกายประชากรไทย พ.ศ. 2562 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ปัจจุบันประชากรไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออยู่ร้อยละ 74.6 ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่ที่เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนๆ ถือว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มวัยได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันการวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และ เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments