วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกNewsอว. เปิดม่าน!! งาน Startup Thailand 2019 นำไทยสู่การเป็น “ชาติสตาร์ทอัพ” ปักธงกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ “สุวิทย์” ชูวิสัยทัศน์ไทยผนึกชาติอาเซียน...

อว. เปิดม่าน!! งาน Startup Thailand 2019 นำไทยสู่การเป็น “ชาติสตาร์ทอัพ” ปักธงกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ “สุวิทย์” ชูวิสัยทัศน์ไทยผนึกชาติอาเซียน สู่การเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีของโลก

24 กรกฎาคม 2562 – ทรูดิจิทัลพาร์ค กรุงเทพฯ/ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดงาน “Startup Thailand 2019” งานเทคสตาร์ทอัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวันนี้ ภายใต้แนวคิด STARTUP NATION โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาเป็นประธานกดปุ่มเปิดงานพร้อมแสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Southeast Asia: Tech Hub of the World” ย้ำอาเซียนคือหนึ่งในฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจโลก มีศักยภาพในการปรับตัวทางเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมในระดับต้นๆ ของโลก และสตาร์ทอัพคือนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะนำชาติสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีของโลก พร้อมเผยไทยนำอาเซียนจัดสุดยอดประชุมการพัฒนาตลาดอาเซียนเพื่อสตาร์ทอัพครั้งแรกในงานนี้

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวในโอกาสที่ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Startup Thailand 2019” ว่า การส่งเสริมสตาร์ทอัพหรือวิสาหกิจเริ่มต้นนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของคนกลุ่มใด หรือส่วนราชการใดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างประเทศไปสู่การเป็น “ชาติสตาร์ทอัพ” ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต คนไทยได้งานทำอันคุ้มค่า ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนไทยให้หลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศรายได้สูงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพในฐานะนักรบทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคง ภายในปี 2580 ตามวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งการพัฒนาสตาร์ทอัพนั้นจะต้องดำเนินการให้เป็นไปทั้งระบบ หรือ Startup Ecosystem ตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้ การสร้างจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนบ่มเพาะเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ และการเร่งรัดธุรกิจไปสู่สากล ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดการลงทุน ทั้งจากการร่วมทุน นักลงทุนบุคคลและบริษัทขนาดใหญ่ อันจะเป็นผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้น เกิดการจ้างงานมากขึ้น และเกิดการกระจายรายได้สู่ทั่วทุกพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบในการจัดตั้ง “หน่วยบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว” หรือ “One-Stop Service: OSS” สำหรับสตาร์ทอัพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ โดยหน่วย OSS จะทำหน้าที่ส่งเสริมผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้น (Idea Stage) จนถึงเริ่มการดำเนินธุรกิจที่เป็นรูปเป็นร่าง (Commercialization) อีกทั้ง ยังจัดให้มีการบ่มเพาะ (Incubate/Accelerate) จัดหาสถานที่ทำงานร่วมกัน (Co-working Space) รวมไปถึงการติดต่อประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของ OSS นั้น เป็นการร่วมมือกันระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนหลัก ร่วมกับส่วนราชการอื่น ๆ ได้แก่กระทรวงการคลังที่ให้การสนับสนุนด้านการเข้าถึงแหล่งทุน กระทรวงพาณิชย์ในภารกิจกระตุ้นตลาดและเปิดตลาดใหม่ รวมทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมไปกับสมาคมภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน สมาคมฟินเทค ประเทศไทย สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ชมรมผู้ประกอบการโลจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดจนสถาบันวิชาการต่างๆ ที่เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรม และเป็นจุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพจำนวนมาก นอกจากนั้น รัฐบาลได้อนุมัติให้เร่งจัดตั้งกองทุนพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ กองทุนสตาร์ทอัพเพื่อสนับสนุนด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบการต้องการเริ่มต้นธุรกิจ ตั้งแต่ช่วงพัฒนาแนวคิด จนกระทั่งสามารถพัฒนาเป็นสินค้าและบริการที่จำหน่ายได้

สำหรับการจัดงานปีนี้ มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากปีที่ผ่านๆ คือกระทรวงที่รับผิดชอบได้เปลี่ยนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเดิม มาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะทำให้สายป่านหรือห่วงโซ่มูลค่าของสตาร์ทอัพยาวขึ้น ต่อจากนี้ไป งานนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ จะได้ก้าวออกมาสู่โลกภายนอก ผ่านการทำธุรกิจแบบ Splint Off ในรูปของสตาร์ทอัพ ภายใต้การดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมมั่นใจมากว่า สตาร์ทอัพเชื้อสายไทยจะต้องเป็นนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจ ที่จะช่วยนำประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและผู้ประกอบการได้อย่างแน่นอน

ดร.สุวิทย์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปีนี้เป็นปีที่สำคัญสำหรับประเทศไทยในอีกวาระหนึ่ง นั่นคือ เราเป็นประธานอาเซียน โดยบทบาทหนึ่งที่สำคัญคือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในทุกด้าน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องสตาร์ทอัพ ด้วยความที่ประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียนล้วนเป็นชาติแห่งการค้า มีปริมาณการค้าขายกับประเทศคู่สัญญาทั่วโลก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า อาเซียน คือหนึ่งในฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจโลก ที่มีความสามารถระดับขั้นสูง ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและการพัฒนานวัตกรรม จนเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือไทย ที่ล้วนแต่มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่มีผลกระทบสูง และมีการจดสิทธิบัตรงานนวัตกรรมจำนวนมาก ผมเชื่อว่า “อาเซียน” จะต้องเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีของโลก หรือ Tech Hub of the World ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

รศ. นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกล่าวว่า 3 ปีของการสร้างนักเศรษฐกิจใหม่ ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องสตาร์ทอัพในประเทศเกิดภาพ THAILAND STARTUP UNIVERSE ที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคสังคม ภาคประชาชน ที่ขยายสู่วงกว้างและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เราได้พัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ตั้งแต่ระดับสถาบันการศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยและอาชีวะ โดยมีมหาวิทยาลัย 35 แห่ง และอาชีวะ 1,000 แห่งทั่วประเทศไทย ร่วมผลักดันการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการให้เกิดการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นเป็นจำนวนกว่า 1,700 ราย ใน 9 รายสาขาอุตสาหกรรม บริษัทขนาดใหญ่เปิดกว้างและร่วมลงทุนกับวิสาหกิจเริ่มต้น โดยมีการจัดตั้งกองทุนร่วมเสี่ยงมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท มีแหล่งบ่มเพาะและเร่งสร้างเกิดขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน มีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระดับนานาชาติกว่า 25 ประเทศ กระตุ้นความสนใจและดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มเม็ดเงินลงทุนภายในประเทศ และส่งผลให้ กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองที่ดีที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพในเอเชีย

สำหรับปีนี้ STARTUP THAILAND 2019 ได้รวมเหล่าหัวกะทิสตาร์ทอัพทั้งไทยและจากทั่วทุกมุมโลก และผู้เล่นในวงการสตาร์ทอัพ จากของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาคม เครือข่ายความร่วมมือจาก 25 ประเทศ ผ่านผลงานมากกว่า 500 สตาร์ทอัพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเปิดมุมมองความคิดใหม่ๆ อีกทั้ง ยังค้นหาสุดยอดไอเดียธุรกิจที่จะเติบโตเป็นยูนิคอร์น นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงงาน เวิร์คช็อป รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย โดยกระจายไปยังสถานที่ต่างๆ ตามเส้นทางรถไฟฟ้า BTS และ MRT ทั้ง 9 แห่ง ได้แก่ NIA, TCDC, KX, SID, Dtac Accelerate, True Digital Park, Naplab, Glowfish, AIS D.C. ซึ่งทั้งหมดเป็นพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ เพื่อสะท้อนว่า “กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ดีที่สุดในเอเชียสำหรับสตาร์ทอัพ” ที่พร้อมจะดึงดูดและส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสตาร์ทอัพ การสร้างกำลังคน การพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์อย่างยั่งยืน การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างผลกระทบ และสามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคม และเราพร้อมแล้วสู่การเป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพของภูมิภาคเอเชีย

ผอ.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เผยว่า ปีนี้ NIA ได้จับมืออาเซียนและประเทศพันธมิตร รวม 12 ประเทศ จัดสุดยอดประชุมการพัฒนาตลาดอาเซียนเพื่อสตาร์ทอัพ: Southeast Asia Startup Assembly (SEASA) ขึ้นในวันนี้ด้วย ที่โรงแรม อวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือในการพัฒนาตลาดอาเซียนเพื่อสตาร์ทอัพขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเราหวังให้เกิดการลงทุน พัฒนาศักยภาพ สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และนวัตกรรมระหว่างประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน รวมถึงมีการลงนามปฏิญญาร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนว่าด้วยเรื่องของการสนับสนุนและผลักดันกลุ่มสตาร์ทอัพในไทยให้มีโอกาสก้าวไกลสู่ระดับอาเซียน ขณะเดียวกัน ก็สร้างเครือข่ายระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันเพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งเป็นปึกแผ่น พร้อมเผชิญความท้าทายระบบนิเวศของกลุ่มสตาร์ทอัพไปด้วยกันทั้งในปัจจุบันและอนาคต

งาน Startup Thailand 2019: Startup Nation
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 กรกฎาคม 2562 ณ Bangkok Innovation Corridor (9 แห่ง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.startupthailand.org/st2019 และ Facebook: StartupThailand

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments