วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 9, 2024
หน้าแรกNewsสสส.นำทีมภาคีจัดงานเสวนาส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ชูพื้นที่สุขภาวะ “ทุกคนต้องเข้าถึงง่าย” หวังให้คนไทยลุกขึ้นมาขยับร่างกาย หลุดพ้นจากกลุ่มโรค NCDs 

สสส.นำทีมภาคีจัดงานเสวนาส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ชูพื้นที่สุขภาวะ “ทุกคนต้องเข้าถึงง่าย” หวังให้คนไทยลุกขึ้นมาขยับร่างกาย หลุดพ้นจากกลุ่มโรค NCDs 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือภาคีด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวทีเสวนาการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย “PA Forum : EP.1 – Active Environment for All การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม” ขับเคลื่อนแนวคิดพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม

นายแพทย์ สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ภารกิจหลักของ สสส. คือการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน เราตระหนักดีว่า NCDs กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วนลงพุง เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ข้อมูลจากสหประชาชาติ ระบุว่า กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทย (ตั้งแต่อายุ 30-70 ปี) สูงถึงร้อยละ 74 สสส. จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในแง่การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง SDGs ของสหประชาชาติ ที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ แต่ยังได้ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเท่าเทียมให้กับประชากรทุกกลุ่มในการมีกิจกรรมทางกาย

“กิจกรรมทางกาย เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ 7+1 ของ สสส. เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยของประชาชน โดยไม่เพียงสนับสนุนและกระตุ้นให้ทุกคนมีกิจกรรมทางกายอย่างพอเพียง แต่ยังรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรทางกาย เพื่อลดความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs การเสวนาวิชาการและนโยบายด้านกิจกรรมทางกาย EP1 : พัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม: Active Environment for All ครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของพื้นที่สุขภาวะที่มีต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมสุขภาวะ หรือการมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย”

ขณะที่ ดร.นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า นโยบายของ สสส. ในเรื่องของ Health Promotion ต้องการส่งเสริมให้คนไทยมี Health Active Lifestyle จึงมีการดำเนินนโยบายส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะมาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่ได้ขับเคลื่อน Global Action on Physical Activity เป้าประสงค์ทางยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ข้อมูลงานวิจัยพบว่า การจะส่งเสริมให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นนั้น จำเป็นต้องมีพื้นที่สุขภาวะที่เหมาะสมในแต่พื้นที่ เพื่อเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าใช้และประกอบกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดไปสู่สุขภาวะที่ดี ได้อย่างสาธารณะ

“สถานการณ์โควิด-19 ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ย้ำเตือนให้เราตระหนักว่า การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs จะเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป TPAC ได้มีการศึกษาวิจัยพบว่าคนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลงอย่างชัดเจน จากระดับ 74.6 % ก่อนโควิด ลดลงมาเหลือ 55 % จากที่เรานั่งนิ่ง ๆ วันละ 13 ชั่วโมง เราก็นั่งกันมากขึ้นเป็น 14 ชั่วโมงกว่า ซึ่งก็จะยิ่งทำให้สุขภาพร่างกายเราแย่ลงเรื่อย ๆ จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเรากลับมา active เหมือนเดิม การประชุมวิชาการวันนี้ ต้องการระดมสมอง ระดมข้อมูลวิชาการต่าง ๆ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อทำให้คนไทยได้ขยับเขยื้อนร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนทั้งในเชิงวิชาการยุทธศาสตร์นโยบายต่าง ๆ รวมทั้งการมีพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้”

ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวต่อว่า ข้อมูลสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ด้านพื้นที่สีเขียว ระบุอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรในกรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 7 ตารางเมตร/คน หากนับรวมประชากรแฝง คาดว่ามีประมาณ 10 ล้านคน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตร/คนเท่านั้น ถือว่าสภาพไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ WHO ขณะที่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ทำการสำรวจพบว่า กรุงเทพฯ มีระยะทางเฉลี่ยในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่ใกล้ที่สุดประมาณ 4.5 กิโลเมตร โดยต้องใช้เวลาถึง 60 นาที การจะทำให้พื้นที่สุขภาวะกระจายตัวให้ทั่วถึงประชากรทุกระดับ สสส.จึงทำหน้าที่ในการเชื่อมประสานเครือข่ายเพื่อพัฒนากระบวนการความร่วมมือ พัฒนาองค์ความรู้และการจัดการพื้นที่ พร้อมทั้งผลักดันนโยบายในระดับประเทศ

“สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันพัฒนาและผลักดันให้เกิดพื้นที่สุขภาวะในระยะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสวนขนาดเล็ก (Pocket Park) ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ในระยะ 400-800 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางเข้าถึงไม่เกิน 15 นาที เพื่อจูงใจและกระตุ้นให้คนไทยลุกขึ้นมาขยับร่างกายให้มากขึ้น ให้มีกิจกรรมทางกาย และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งจะทำให้คนไทยหลุดพ้นจากการเป็นโรคในกลุ่มโรค NCDs และลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตของประชากรเมือง ส่งเสริมระบบนิเวศน์เมือง ส่งเสริมการเรียนรู้ และความสัมพันธ์ทางสังคม และส่งเสริมเศรษฐกิจของย่านไปพร้อมกัน”

พื้นที่สุขภาวะคือ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ทั้งที่เป็นรูปแบบพื้นที่ว่าง และรูปแบบที่ผสานผสานกับระบบสัญจร ที่ได้รับการออกแบบเชิงกายภาพ และการจัดการเพื่อการสาธารณะ สสส. มีการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สุขภาวะร่วมกับภาคีเครือข่ายเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ, เครือข่ายพื้นที่สุขภาวะ และกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนา ย่านพื้นที่สุขภาวะ เช่น คลองสานกะดีจีน, ย่านจีนถิ่นบางกอก, ย่านพระโขนงบางนา พื้นที่สุขภาวะ เช่น ลานกีฬาพัฒน์ 1-2, สวนหัวลำโพงรุกขนิเวศน์, พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่สุขภาวะภาษีเจริญ และ เส้นทางสัญจร เมืองเดินได้เดินดี ในย่านต่าง ๆ ของ กทม.

ด้าน คุณนิรมล ราศรี รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้นั้นถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น หลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถยืนยันประโยคข้างต้นได้เป็นอย่างดีคือ “การสร้างสภาพแวดล้อมที่่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของแผนปฏิบัติิการระดับโลกเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ปี พ.ศ. 2561-2573 หรือ GAPPA ที่ว่าด้วยเรื่องของการให้ความสำคัญกับความจำเป็นในการสร้างพื้นที่และสถานที่ที่ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายและปกป้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับผู้คนทุกวัยและทุกสมรรถภาพในการใช้พื้นที่ในเมือง ชุมชน และสถานที่ที่มีความปลอดภัยและเอื้อให้ทุกคนมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ
งานเสวนาการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย “PA Forum : EP.1
– Active Environment for All การพัฒนา
พื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม ในครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ
กรุงเทพมหานคร (นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม) มาร่วมแสดงทัศนะ : กรุงเทพมหานครกับการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ

นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายโดยนักวิชาการ นักนโยบาย และภาคีเครือข่ายการทำงานพื้นที่สุขภาวะ และ สสส. ในประเด็นการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม ได้แก่ ความสัมพันธ์ของพื้นที่สุขภาวะและวิถีสุขภาวะของคนทุกคน, ก่อนจะเป็นพื้นที่สุขภาวะ: จุดเริ่มต้นและกระบวนการพัฒนา และ มหานครกรุงเทพกับโมเดลสวน 15 นาที

ภายหลังจากงานเสวนายังได้มีการเปิดตัวคู่มือการจัดกิจกรรม “WalkShop: เครื่องมือส่งเสริมการจัด Healthy Active Meeting” ชุดเครื่องมือสำหรับหน่วยงาน องค์กร สำหรับการจัดประชุมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ โดยใช้ “การเดินประชุม” ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและหยิบจับเอาความคิด หรือไอเดียใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินพูดคุย สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างการประชุม พร้อมกับการจัดกิจกรรม “WalkShop” ใน 3 เส้นทางของสวนเบญจกิติและสะพานเขียว เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนไอเดียร่วมกัน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มเวลาการมีกิจกรรมทางกายเพื่อการมีสุขภาพที่ดีอีกด้วย


RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments