วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกNewsเปิดตัวสารคดีแห่งปี "Some One หนึ่งในหลาย” เรียนรู้ เข้าใจ “พหุสังคมไทย” ที่ยั่งยืน

เปิดตัวสารคดีแห่งปี “Some One หนึ่งในหลาย” เรียนรู้ เข้าใจ “พหุสังคมไทย” ที่ยั่งยืน

นับเป็นการสร้างสรรค์รายการสารคดีแห่งปี “Some One หนึ่งในหลาย” ความร่วมมือของ 3 องค์กรในรูปแบบ Co-Creation ระหว่าง 2 องค์กรสื่อ บริษัท สื่อดลใจ จำกัด และ บริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้าน Content Creation และ Story Telling ในรูปแบบสารคดี ร่วมกับองค์กรทางวิชาการ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศึกษาวิจัยด้านพหุวัฒนธรรม-พหุภาษาในสังคมไทย-อาเซียนและในมิติข้ามชาติมายาวนาน จับมือกันเปิดตัวสารคดีชุดพิเศษ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย  นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างตระหนักในคุณค่าและเท่าเทียมในสังคมไทย  โดยงานจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 


ทั้งนี้ สารคดี “SOME ONE หนึ่งในหลาย”  ได้รับทุนการผลิตจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

บรรยากาศภายในงานมีหลายหน่วยงานสำคัญเข้าร่วมนำเสนอมุมมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก กสทช.,นักวิชาการ, ตัวแทนจากผู้ผลิตสารคดี, พิธีกรหลัก และบุคคลเจ้าของเรื่องในสารคดี อย่างกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ จังหวัดเพชรบุรี และตัวแทนชาวซิกข์ รวมทั้งผู้สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาอย่างคับคั่ง

นอกจากนี้ ตัวแทนจาก 3 องค์กรหลักได้ร่วมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน นำโดย ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภค ในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกร จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล คุณทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ตัวแทนพิธีกร และผู้วาดภาพประกอบเรื่องสารคดี คุณปฐมาภรณ์ วิโรจน์พันธุ์ Content Co-director บริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด

ด้านกิจกรรมบนเวทีได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Hearing) ครั้งที่ 1 โดยเริ่มจาก Dr.Kirk Person บรรยายหัวข้อ “พหุสังคมวัฒนธรรม : มองความต่างอย่างเข้าใจ” ตามมาด้วยการเปิด Forum 1 “พหุสังคมไทย : อยู่อย่÷างไรให้เข้าใจกัน” และ Forum 2 “กว่าจะมาเป็น…SOME ONE หนึ่งในหลาย”

สารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย มีความยาวตอนละ 25 นาที จำนวน 45 ตอน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ช่อง MCOT HD 30 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.30-10.00 น. เริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

พร้อมกันนี้ สารคดีชุดนี้ยังเผยแพร่ผ่านช่องทางโชเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook และ YouTube ภายใต้ชื่อ “สารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย” และช่องทางพันธมิตรเครือข่าย โดยจะเผยแพร่ทั้งบทความ สารคดีความยาว 25 นาที และสารคดีคัดย่อ 5 นาที ที่จะเผยแพร่ในช่วงเวลาเดียวกับการออกอากาศทางโทรทัศน์

โดยเนื้อหาสารคดีจะแบ่งออกเป็น 6 ประเด็นใหญ่ที่น่าสนใจหลากหลาย ได้แก่

1. บทนำ ประเด็นนำเสนอความแตกต่างและความหลากหลายในนิยามความเป็น “ไทย” ในมิติต่างๆ จำนวน 1 ตอน

2. พหุลักษณ์ รากพหุสังคม ประเด็นนำเสนอความหลากหลายของพหุลักษณ์ในภูมิทัศน์สังคมไทย ทั้งด้านเชื้อชาติ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ จำนวน 12 ตอน

3. พหุสังคมวิถีใหม่ ประเด็นนำเสนอกลุ่มคนทางวัฒนธรรมในปัจจุบันที่มีความแตกต่าง ทั้งด้านครอบครัว เพศวิถี ชีวิตคนต่างวัย ความเชื่อและความศรัทธา การก้าวข้ามกำแพงศาสนา พหุวัฒนธรรมในโลกดิจิทัลและสื่อประเพณี จำนวน 18 ตอน

4. พลเมืองไร้พรมแดน ประเด็นนำเสนอการเลื่อนไหลของสังคม อันเกิดจากการภาวะข้ามชาติและการย้ายถิ่น การละเมิด การละเลย และความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ข้ามชาติ จำนวน 7 ตอน

5. คนพิเศษในความสามัญ ประเด็นนำเสนอความเข้าใจชีวิต คุณค่า สิทธิ ของกลุ่มคนที่มีความต้องการพิเศษต่างๆ จำนวน 4 ตอน

6. บทสรุป ประเด็นนำเสนอแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ด้านพหุสังคมของไทยและตัวอย่างอื่นๆเพื่อนำไปสู่แนวทางการสร้างพหุสังคมพหุวัฒนธรรมไทยที่ยั่งยืน จำนวน 3 ตอน

นอกจากนี้ทางทีมผลิตยังได้เดินทางไปถอดบทเรียนความเป็นพหุสังคมพหุวัฒนธรรมในต่างประเทศ ด้านต่างๆ เช่น เนเธอร์แลนด์ ความเท่าเทียมทางเพศสภาพ เยอรมนีประเทศที่เป็นสังคมพหุลักษณ์ที่ซับซ้อนและคนไทยจำนวนไม่น้อยไปตั้งรกรากใช้ชีวิต ประเทศเกาหลีต้นแบบของการใช้ Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคม  และญี่ปุ่น ด้านการให้ความสำคัญกับผู้พิการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทบทวน การสร้างแนวคิดและแนวทางจากบทเรียนต่างประเทศ สำหรับสังคมไทย

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments