วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกNews‘เอ็มเฟค’ ผนึกรัฐรับมืออาชญากรรมทางเทคโนโลยี มั่นใจหากลดปัญหาได้หนุนศก.ประเทศโต

‘เอ็มเฟค’ ผนึกรัฐรับมืออาชญากรรมทางเทคโนโลยี มั่นใจหากลดปัญหาได้หนุนศก.ประเทศโต

เพราะภัยคุกคามทางไซเบอร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มเฟค (MFEC) ในฐานะผู้นำด้านระบบไอที จึงผุดไอเดียร่วมกับ บก.ปอท. บก.ป. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดงานประชุมความปลอดภัยไซเบอร์ และการแข่งขัน TCSD Cybersecurity Conference 2019 ระดับสากลครั้งแรกในประเทศไทยขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

นายดำรงค์ศักดิ์ รีตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือเอ็มเฟค (MFEC) เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจทางด้านไอที ให้คำปรึกษาพัฒนาวางระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายงานสารสนเทศ ที่ผ่านมามองว่าการสร้างความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศและเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชน เพื่อการป้องกัน รับมือและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ จึงได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และกองบังคับการกองปราบปราม (บก.ป.) พร้อมกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดสัมมนาด้านความปลอดภัยไซเบอร์ และแข่งขัน TCSD Cybersecurity Conference 2019 ระดับสากลครั้งแรกในประเทศไทยขึ้น
ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยอันตรายบนโลกออนไลน์ และให้ความรู้ด้านกฎหมายไซเบอร์ โดย ผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ และกิจกรรมแชร์องค์ความรู้ทางด้าน Cybersecurity จากวิทยากรชื่อดังของเมืองไทย นอกจากนี้ยังจัดให้มีการแข่งขัน CTF ในสาย Offensive Security ผ่านระบบออนไลน์ฝีมือคนไทยระดับสากล เพื่อเป็นเวทีให้ประชาชนและบุคลากรภาครัฐ ได้โชว์ศักยภาพเข้าร่วมชิงชัยประลองฝีมือด้านไซเบอร์ แบบไม่จำกัดเพศ อายุ และการศึกษา ช่วยพัฒนาความรู้ ความสามารถด้าน Cybersecurity ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิดร่วมสร้างการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” โดยผู้ชนะเลิศอันดับ 1 ในการแข่งขันครั้งนี้ได้แก่ทีม Jeeeeeeeeeeeff คว้าเงินรางวัล 50,000 บาทไปครอง รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีม NEVERSAYIAM คว้าเงินรางวัล 30,000 บาท และสุดท้ายรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม 555+ คว้าเงินรางวัล 20,000 บาท

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการช่วยหน่วยงานรัฐในการทำงานด้านการรักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ และป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ในแต่ละปีมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของการหลอกขายสินค้าออนไลน์ อาชญากรรมรูปแบบอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับพี่น้องประชาชน
โดยจะให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาคน ให้มีความรู้เพื่อป้องกันตัวเองเพราะทุกวันนี้ภัยคุกคามทางไซเบอร์อยู่ใกล้ตัวมาก ซึ่งจากนี้ไปจะหันมาทำงานกับหน่วยงานรัฐมากขึ้นเพื่อช่วยให้คดีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวลดลง

“อย่างไรก็ตามคาดว่าจะพัฒนาให้ผู้ที่มีความรู้ นำความรู้ไปกระจายต่อเป็นวงกว้างเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เช่นในอนาคตจะทำงานร่วมกับอาสาดิจิทัลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ให้พร้อมรับมือภัยคุกคาม ส่วนกิจกรรมในครั้งนี้คาดว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะดึงผู้ชนะที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ไปต่อยอดองค์ความรู้เพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง นอกจากนี้ MFEC ยังมีการเปิดสอนให้ความรู้กับน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ด้วย เพราะจากผลสำรวจพบว่า ปัจจุบันมีธุรกิจที่ปรึกษาความปลอดภัยทางไซเบอร์กำลังมาแรง โดยปีที่ผ่านมามีการเปิดตัวบริษัทใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากนับว่าเป็นธุรกิจที่กำลังนิยม โดยเชื่อว่าในอนาคตจะขยายตัวมากขึ้น เพราะคนไทยหันมาใส่ใจเรื่องความปลอดภัย จึงเป็นโอกาสของตลาดแรงงานสำหรับผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านนี้มีโอกาสหางานได้ง่ายมากขึ้น”

“สำหรับสถานการณ์ภัยทางไซเบอร์กลุ่มที่มีโอกาสถูกหลอกมากที่สุดคือ เด็กที่เสี่ยงถูกหลอกจากการเล่นเกม และผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามมองว่าหากความปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจชาติเติบโตไปด้วยกัน และอยากฝากบอกให้ประชาชนต้องมีสติในการเล่นโซเชียลมีเดียให้มาก ต้องมีองค์ความรู้ในการป้องกันดูแลตัวเอง และคนรอบข้าง ในส่วนของธุรกิจบริษัทคาดว่าปี 2563 จะเติบโตขึ้นเป็น 3 เท่า” นายดำรงศักดิ์ กล่าว

ด้านนายภัทรพงศ์ ระมั่งทอง ตัวแทนทีม Jeeeeeeeeeeeff ทีมผู้ชนะเลิศในการแข่งขัน กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน CTF ในสาย Offensive Security รอบชิงชนะเลิศ เพราะทุกคนในทีมมีความตั้งใจทุ่มเทและพยายามอย่างมาก ส่วนหนึ่งเชื่อว่าความสามัคคี ความขยัน ทำให้ทีมประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ มองว่า “ภัยคุกคามทางไซเบอร์” ในปัจจุบันเป็นปัญหาทางสังคมที่น่ากลัว และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีการให้ความรู้จากหน่วยงานรัฐ และเอกชน ที่จะให้ความรู้ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ป้องกันตัวเองอย่างถูกต้อง ส่วนตัวเห็นว่าการแข่งขันดังกล่าวมีประโยชน์ทำให้คนในประเทศตื่นตัวเรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์มากขึ้น เพราะปัจจุบันมีทั้งการหลอกขายของ หลอกลวงไปในทางที่ผิด มีการให้ข้อมูลข่าวสารที่ผิดแล้วเกิดการแชร์ออกไปแบบผิด ๆ ดังนั้นเราต้องทำตัวเองให้ปลอดภัยก่อน

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments