วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกNewsASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity

ASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity

เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ นางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการสัมมนา ASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity ซึ่งจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ณ โรงแรม Pullman Bangkok King Power กรุงเทพฯ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศสมาชิกการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia Europe Meeting – ASEM) องค์การระหว่างประเทศ ภาครัฐและเอกชน ร่วมเป็นวิทยากร และมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ กว่า ๒๕๐ คน

การจัดการสัมมนาครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกกรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM) เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริม ความเชื่อมโยงทางดิจิทัลอย่างยั่งยืนร่วมกันระหว่างสองภูมิภาค ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในกรอบ ASEM โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงการจัดสัมมนานี้ ระหว่างการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ ๑๒ ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ ๑๘-๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ พร้อมทั้งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ ของไทย ในฐานะประธานอาเซียนประจำปี ๒๕๖๒ ในการเสริมสร้างความยั่งยืนและความเชื่อมโยงในทุกมิติ ตามที่ไทยได้ประกาศไว้ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ ณ กรุงเทพฯ และการประชุมผู้นำ G20 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒

ในช่วงพิธีเปิดการสัมมนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำถึงความสำคัญ ของการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ภาคเอกชน และสถาบันต่าง ๆ โดยคำนึงถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ โดยความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียและยุโรปมีความสำคัญในด้านความมั่นคง สันติภาพ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างทั่วถึง (inclusive development) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยให้ความสำคัญ เป็นอย่างยิ่ง การสัมมนาครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเอเชียและยุโรปที่จะได้หารือถึงแนวทางที่เอเชียและยุโรป จะมีความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ โดยเฉพาะ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ สำหรับประชาชน เพื่อรับมือกับความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลจำเป็นที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องให้ความสำคัญกับ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประชาชน รวมถึงต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับประชาชนสำหรับอาชีพในอนาคต นอกจากนี้ ยังเสนอให้เอเชียและยุโรปร่วมมือกันในการส่งเสริมความมั่นคงทางไซเบอร์เพื่อเสริมสร้างความเชื่อใจกัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลทางดิจิทัลร่วมกัน

วาระแรกของการสัมมนาเป็นกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนระดับสูง (High-Level Commitment) ในหัวข้อ “Digital Transformation Trends – What should Asia and Europe Change for Sustainable Digital Connectivity?” โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างเอเชียกับยุโรปที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืนในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย ได้กล่าวถึงแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเอเชียกับยุโรปเพื่อรับมือกับ ความท้าทายที่มาพร้อมกับยุคสมัยดิจิทัลในด้านต่าง ๆ
นาย Pirkka Tapiola เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวถึงความเชื่อมโยงทางดิจิทัลว่า เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงยุโรป-เอเชียในภาพรวม ซึ่งมีเป้าหมายคือการพัฒนา ความเชื่อมโยงที่มีความครอบคลุมและยั่งยืน โดยตั้งอยู่บนรากฐานของกฎและมาตรฐานที่ได้แต่ละประเทศตกลงร่วมกัน เอกอัครราชทูตฯ กล่าวต่อไปว่า สหภาพยุโรปเชื่อมั่นว่าความเชื่อมโยงที่ครอบคลุมและยั่งยืนนี้จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศไทยและต่างประเทศ นำประโยชน์มาสู่ประชาชน นอกจากนี้ ยังจะช่วยผลักดันให้ระดับภูมิภาคประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย

นาย Gil S. Beltran ปลัดกระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์ กล่าวถึงประสบการณ์ของฟิลิปปินส์ ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการหลั่งไหลของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การการจัดตั้ง TradeNet Platform เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าและบริการ การนำเทคโนโลยีมาส่งเสริม การทำงานของภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัลเพื่อให้ประชาชน ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน

ในช่วงการจัดสัมมนาย่อยในหัวข้อแรก “Bridging the Digital Skills Gap – Towards a Digital Literated Society in Asia and Europe” ดำเนินรายการโดยนายชยุตม์ เศรษฐ์บุญสร้าง จากสำนักข่าวรอยเตอร์ ได้จุดประเด็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชนจากหลายประเทศเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาบุคลากรสาขาดิจิทัลให้เพียงพอต่ออุปสงค์ของตลาดโลกในอนาคต ซึ่งแนวโน้มในปัจจุบันภาครัฐจะต้องพึ่งพาภาคเอกชนในลักษณะ public-private partnership มากขึ้น ประเด็นที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านแอพลิเคชั่น เช่น Gojek และ e-platform ต่าง ๆ ในการพัฒนาและจัดหาทรัพยากรบุคคลให้แก่บริษัทอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การวางแผนรับมือเทคโนโลยี A.I. ที่กำลังจะเข้ามาแทนที่ทุนมนุษย์ในอนาคตด้วย

ในช่วงการจัดสัมมนาย่อยในหัวข้อที่สอง “Accessing the Digital Marketplace – Towards an Open Innovative Digital Global Economy” ดำเนินรายการโดย Mr. Jonathan Tseun Yip Wong จาก United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA หน่วยงาน Cyberspace Administration ของจีน กระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์ และภาคเอกชนจากบริษัท DTAC บริษัท LinkAja และบริษัท Shopee ได้แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิก ASEM และแนวปฏิบัติที่ดีด้านการกำหนดนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและตลาดดิจิทัล รวมถึงความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บภาษีดิจิทัล นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนายังได้หารือเกี่ยวกับบทบาทของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โอกาสและความท้าทายของ FinTech รูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบธนาคารในอนาคต และการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง และผู้ประกอบการรายใหม่ในการใช้ platform ด้าน e-commerce ในการพัฒนาธุรกิจและการตลาด
ในช่วงการจัดสัมมนาย่อยในหัวข้อที่สาม “Towards Sustainable Digital Connectivity and Security in Asia and Europe” ดำเนินรายการโดย ดร. ดามพ์ สุคนธทรัพย์ กรรมการ กรรมการบริหาร และประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก บริษัท Microsoft ในประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนัก State Information Systems ของเอสโตเนีย ผู้แทนจาก DG CONNECT ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และผู้แทนจากสำนักเลขาธิการ OSCE ได้แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ความมั่นคงทางไซเบอร์ และเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน รวมทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาความเชื่องโยงทางดิจิทัล และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและคำแนะนำผ่านประสบการณ์ของผู้แทนจากประเทศยุโรปในเรื่องของความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน ในด้านของความมั่นคงทางไซเบอร์ ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการให้ความรู้และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่สาธารณชน โดยเฉพาะเยาวชนจากภัยของ hate speech และ fake news

ทั้งนี้ ผลการสัมมนา ASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity ในครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้นำไปรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ ๑๔ ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ ที่กรุงมาดริด สเปน รวมถึงผลักดันให้เกิดความร่วมมือเพื่อการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืนกับประเทศสมาชิก ASEM ภายใต้กรอบการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเชีย-ยุโรป ซึ่งได้กำหนดให้ประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงเป็นประเด็นหลักในการหารือร่วมกันต่อไป

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments