วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกPr.ไร้ “สวัสดิภาพสัตว์” กินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ก็เสี่ยง

ไร้ “สวัสดิภาพสัตว์” กินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ก็เสี่ยง

การงดกินเนื้อสัตว์เป็นกระแสทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมังสวิรัติ กินเจ รวมไปถึงคำใหม่ ๆ ที่เราได้ยินกันมากขึ้นในช่วงหลังอย่าง Flexitarian และ Vegan โดยเฉพาะกลุ่มท้ายสุด ถือว่ามาแรง จากที่เคยเป็น “อาหารทางเลือก” ของคนกลุ่มเล็ก ๆ วันนี้ “วีแกน” ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการคาดประมาณตัวเลขผู้บริโภคอาหารวีแกนทั่วโลก ว่าอยู่ที่ราว 75 ล้านคน แม้จะยังมีจำนวนน้อยกว่าคนกินเจ และมังสวิรัติ แต่เป็นกลุ่มที่เติบโตมากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

แต่ละกลุ่มมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน จนหลายคนเริ่มสับสน สาระสำคัญของแต่ละแนวทางมีดังนี้

มังสวิรัติ – งดกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด

เจ – งดเนื้อสัตว์ พืชผักฉุน 5 ชนิด (กระเทียม, พืชตระกูลหอม, กุยช่าย, หลักเกียว และยาสูบ) ผลิตภัณฑ์นม รวมทั้งไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์

Flexitarian – มาจากคำว่า flexible เป็นการกินมังวิรัติแบบยืดหยุ่น เป็นกลุ่มที่พยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง และบางครั้งครอบคลุมไปถึงนมจากสัตว์และไข่ด้วย

วีแกน – งดเนื้อสัตว์ และไม่บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิด

เราส่วนใหญ่รับรู้เรื่องการลดและงดการบริโภคเนื้อสัตว์ว่ามาจากเหตุผลด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมหรือความเชื่อทางศาสนา แต่อีกแนวคิดมาแรง คือเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ โดยเฉพาะปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีความแอดอัด สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ตลอดจนวิธีการปฏิบัติที่สร้างความเจ็บปวดต่อสัตว์ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อทุกคนไม่ว่าจะบริโภคเนื้อสัตว์หรือไม่ก็ตาม

สัตว์ไร้สวัสดิภาพ ผู้บริโภค/ไม่บริโภค เสี่ยงพอ ๆ กัน

“สวัสดิภาพสัตว์” เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องใส่ใจ ไม่เว้น “คนรักเนื้อ”

“ซูเปอร์บั๊ก” หรือ “เชื้อดื้อยา” เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับปศุสัตว์ที่ถูกเลี้ยงดูอย่างไรสวัสดิภาพ

เชื้อดื้อยาในฟาร์มสัตว์ เกิดจากการเลี้ยงดูอย่างแออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้สัตว์เครียด อ่อนแอ และเจ็บป่วยได้ง่าย เมื่อกลัวว่าสัตว์จะไม่สบาย คนเลี้ยงก็จะให้กิน “ยาปฏิชีวนะ” เพื่อ “กันไว้ก่อน” คนเลี้ยงจำนวนมากยังเข้าใจว่ายาปฏิชีวนะเป็น “วิตามินบำรุง” กินแล้วจะทำให้หมูไก่โตไว ได้น้ำหนัก จึงให้แบบรวมหมู่ ด้วยการผสมยาในน้ำหรืออาหารกินกันทั้งฟาร์ม เมื่อสัตว์เหล่านี้กินยาปฏิชีวนะในปริมาณต่ำ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เชื้อแบคทีเรียในตัวสัตว์ก็จะพัฒนาตัวเองให้คงทนต่อยา พอถึงเวลาที่เจ็บป่วยขึ้นมาจริง ยาที่เคยใช้ รักษาไม่ได้ คนเลี้ยงก็ต้องเปลี่ยนยา หายาแรงขึ้น ให้กินยาเยอะขึ้น เชื้อโรคก็จะยิ่งพัฒนาตัวหนียา จนกลายเป็น “ซูเปอร์บั๊ก” ที่ยาไหน ๆ ก็เอาไม่อยู่

ประเด็นสำคัญคือ ยาปฏิชีวนะที่สัตว์กิน หลายชนิดเป็นยาเดียวกับที่เราใช้กัน ดังนั้น ถ้าเรารับเชื้อมา ยาชนิดนั้นก็จะใช้รักษาไม่ได้ ทำให้อาการป่วยเล็กน้อยกลายเป็นป่วยหนัก และอาจลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิต

“เชื้อดื้อยา” จากฟาร์มสัตว์ แพร่สู่คน ได้อย่างไร?

เครดิตภาพ : KOOKLE/Shutterstock

คำตอบ คือ 1. คนเลี้ยงรับเชื้อโดยตรงจากสัตว์ในฟาร์ม แล้วนำไปแพร่กระจายต่อให้คนอื่น 2. เชื้อดื้อยา เล็ดลอดจากฟาร์มพร้อมกับน้ำเสีย ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และในดิน รวมถึงอยู่ในรูปของมูลสัตว์ที่ถูกนำไปใช้ต่อในภาคเกษตรกรรม 3. ผู้บริโภค เมื่อไปซื้อเนื้อสัตว์ไปก็จะมีการสัมผัสขณะปรุงอาหาร และการกิน

ในแต่ละปี คนไทยติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 88,000 ครั้ง ในจำนวนนี้กว่า 38,000 คนเสียชีวิต สร้างความสูญเสียไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

วาระโลก วาระไทย ต้าน “ซูเปอร์บั๊ก”

ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่ว่ากลุ่มที่บริโภคหรืองดบริโภคเนื้อสัตว์ ก็มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อดื้อยาไม่แตกต่างกัน การดูแลความปลอดภัยสำหรับทุกคน จึงเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปี 2558 เวทีสมัชชาอนามัยโลกมีมติขอให้ประเทศสมาชิกจัดทำแผนระดับประเทศ ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกจึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์

เครดิตภาพ : World Animal Protection / Julia Bakker

ร้อยละ 30 ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ และถูกตั้งข้อสังเกตว่าขาดมิติด้านสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งจะช่วยสกัดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างได้ผล ส่วนการดูแลเพื่อให้มีการผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัย ก็เป็นการ “ให้รางวัล” คนทำดี แทนที่จะกำหนดเป็นมาตรการบังคับ

นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ในปีนี้ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนแม่บทต้านเชื้อดื้อยา กรมปศุสัตว์ได้ออกมาระบุถึงความก้าวหน้าในแง่มุมด้านสวัสดิภาพสัตว์ ว่าจะมีการยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักการด้านสวัสดิภาพสัตว์ : ระบบการผลิตสุกร โดยจะนำต้นแบบจากมาตรฐานสากลมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทย และจะใช้เป็นแนวทางประกอบการตรวจประเมินมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร หรือ GAP เพื่อให้เป็นมาตรฐานบังคับ จากเดิมที่เป็นเพียงภาคสมัครใจ กระนั้นยังจำกัดว่าเป็นการบังคับสำหรับเฉพาะฟาร์มที่มีประชากรหมูเกินกว่า 500 ตัวขึ้นไป หรือมีแม่พันธุ์สุกรตั้งแต่ 95 ตัวขึ้นไปเท่านั้น

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวย้ำว่า “ประเทศไทยมีความก้าวหน้าและจริงจังในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเชื้อดื้อยามาก แต่นั่นยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคปศุสัตว์ เราเสนอให้รัฐออกกฎหมายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันโรคในสัตว์แบบรวมกลุ่ม ซึ่งหลายประเทศเริ่มประกาศใช้แล้ว ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ฟาร์มได้อย่างยั่งยืน”

ดังนั้น ถือเป็นวาระสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมกันเรียกร้องให้เกิดสวัสดิภาพสัตว์ ไม่ใช่แค่เพื่อประโยชน์ต่อสัตว์ แต่ยังรวมถึงความปลอดภัยของทุกคน โดยการติดตามและผลักดันมาตรฐานการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ให้สอดคล้องตามมาตรฐาน FARMS (Farm Animals Responsible Minimum Standard) ที่ทั่วโลกยอมรับ รวมทั้งเรียกร้องการกำหนดนโยบายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคในสัตว์ฟาร์มให้ชัดเจนไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแผนฉบับถัดไป จะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมและยั่งยืนสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะชาววีแกน มังสวิรัติ กลุ่มกินเจ หรือคนรักเมนูเนื้อสัตว์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments