วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกNewsFi Asia 2022 รวบตึงทุกเทรนด์ ‘ส่วนผสมอาหาร’ ทั่วโลก พร้อมเปิดตัว Vitafoods Asia ดันอุตฯ ‘เสริมอาหาร’

Fi Asia 2022 รวบตึงทุกเทรนด์ ‘ส่วนผสมอาหาร’ ทั่วโลก พร้อมเปิดตัว Vitafoods Asia ดันอุตฯ ‘เสริมอาหาร’

Fi Asia 2022 งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มแห่งเอเชีย ที่จัดขึ้นในประเทศไทย หวนกลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ หลังงดจัดงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด จัดเต็มด้วยเทรนด์ส่วนผสมใหม่ ๆ จากทั่วโลก ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม ธุรกิจ และวิถีชีวิตผู้บริโภค นำเสนอโอกาสใหม่ ๆ ในการต่อยอดทางการค้าและสินค้า พิเศษกว่ายิ่งกว่าที่เคย ด้วยการเปิดตัวงาน Vitafoods Asia 2022 ครั้งแรกสำหรับประเทศไทย ในการจัดงานด้านอุตสาหกรรมเสริมอาหารระดับเอเชีย ที่ประกอบด้วย Nutraceutical อาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชัน (Functional Food and Beverages) และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม (dietary supplement) ครอบคลุมครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

Fi Asia 2022 & Vitafoods Asia 2022 คือการผนึกกำลังกันเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสุดยิ่งใหญ่ที่รวมตัวเหล่าผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน นักธุรกิจ ทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้ซื้อ จากทั่วภูมิภาคอาเซียน เพื่อสัมผัสเทคโนโลยีและนวัตกรรมส่วนผสมล่าสุด แลกเปลี่ยนมุมมอง ความรู้ และประสบการณ์ ที่จเะช่วยยกระดับทั้งอุตสาหกรรม ตลอดจนเกิดธุรกิจการค้าขึ้นภายในงานระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

 

โดยงาน Fi Asia ถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมส่วนผสมอาหาร และเป็นผู้กำหนดเทรนด์อาหารในอนาคต ซึ่งเทรนด์อาหารที่น่าสนใจในปีนี้ คือ

1. Food for Your Mood
จากรายงานเชิงลึกของ Global Wellness Economy (GWI) พบว่า เศรษฐกิจสุขภาพจิตทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 120,800 ล้านดอลลาร์ โดยสารอาหารที่ส่งเสริมการทำงานของระบบประสาทและสมอง (Brain-Boosting Nutraceuticals) มีสัดส่วนถึง 34,800 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าโดยรวมเลยทีเดียว ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดในเมืองไทย คือ กลุ่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมสารสกัดจากกัญชากัญชง ที่เน้นสรรพคุณช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ในต่างประเทศมีผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมที่ช่วยในด้านสุขภาพจิตหลากหลาย อาทิ สแน็กบาร์ที่ช่วยเสริมสร้างสมาธิและอารมณ์ดี  เจาะกลุ่มวัยทำงานที่ต้องใช้สมาธิสูง อาหารที่ช่วยส่งเสริมการนอนหลับให้มีคุณภาพ ฯลฯ อะแดปโทเจน เห็ดบางชนิด ช็อกโกแลต ธัญพืช สมุนไพร เป็นตัวอย่างส่วนผสมที่มีการใช้กันมากขึ้น เพื่อสร้างสรรค์อารมณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้บริโภค

2. Good for Gut
จากการค้นพบว่าลำไส้ไม่เพียงแต่ควบคุมการย่อยและระบบขับถ่ายเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อระบบฮอร์โมน ระบบประสาท และภูมิคุ้มกัน จนได้ชื่อว่าเป็น “สมองที่ 2” ของร่างกาย ทำให้ผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) และ โพรไบโอติกส์ (Probiotics) มาแรงในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งอาหารหมักดอง อย่างกิมจิ คอมบูชา ไปจนถึงอาหารที่เน้นกากใยไฟเบอร์ ซี่งการขยายตัวของตลาดในกลุ่มนี้ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามความตระหนักของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นจากการได้รับรู้ข้อมูลในการดูแลลำไส้ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพ ผู้ให้บริการข้อมูลทางการแพทย์ของจีนคาดการณ์ว่า ในปี 2566 ตลาดโพรไบโอติกส์ของจีนจะมีมูลค่าราว 117,100 ล้านหยวน หรือประมาณ 585,500 ล้านบาท เลยทีเดียว

3. Eating Experience
ผู้บริโภคในปัจจุบันโหยหาประสบการณ์ใหม่ ๆ จากอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น อันเนื่องจากการหยุดนิ่งยาวนานเพราะโควิด-19 พวกเขาคาดหวังที่จะหลุดจากกรอบเดิม ๆ ทั้งในมิติของรสชาติ กลิ่น สี รสสัมผัส ไปจนถึงแพ็คเกจที่แปลกใหม่ การใช้โซเชียลมีเดียผลักดันให้สีและรูปลักษณ์ของอาหารกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกบริโภค ซึ่งเทรนด์สีในปัจจุบันพบว่า เฉดสีน้ำเงินและม่วง กำลังมาแรงในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากให้ความรู้สึกผ่อนคลายและให้แรงบันดาลใจไปพร้อมกัน และสีอีกกลุ่มที่ได้รับความนิยมคือ สีที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นและอารมณ์เชิงบวก อย่างพริกปาปริกาและแคโรทีน เพื่อเยียวยาความเหนื่อยล้าจากภาวะโรคระบาด นอกจากนี้การท่องเที่ยวสายกิน  หรือ Gastronomy Tourism ก็เป็นอีกรูปแบบการสร้างประสบการณ์การกินที่จะเติบโตอย่างมากหลังสถานการณ์คลี่คลาย โดยคาดว่า มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวด้านการทำอาหารทั่วโลกจะสูงถึง 1,796.5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี พ.ศ. 2570

4. Upcycling and Sustainable Foods
ประเด็นเรื่องความยั่งยืนยังคงยืนหนึ่งในทุก ๆ อุตสาหกรรม ความจริงที่ว่ากว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั่วโลกไม่ถูกรับประทานและกลายเป็นขยะ กำลังเป็นที่ตระหนักของผู้บริโภคมากขึ้น โดยรายงานล่าสุดจาก Mintel Global Consumer research ระบุว่า 58% ผู้บริโภคชาวออสเตรเลีย   และ 59% ในนิวซีแลนด์ เห็นด้วยกับการให้ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ระบุผลข้อมูลเชิงสิ่งแวดล้อมบนผลิตภัณฑ์ เช่น Carbon Footprint หรือ Eco-Score ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่ความอร่อยที่ปลายลิ้น แต่กระบวนการผลิต ความรับผลิตชอบต่อแรงงาน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการปลูกและปศุสัตว์  การปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต ไปจนถึงแพคเกจจิ้ง ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคใส่ใจ ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคยังมีการเปิดใจยอมรับอาหารที่ผลิตจากของเหลือมากขึ้นด้วย โดย APAC ระบุว่า ช่วงปี 2019 – ไตรมาสแรกปี 2022 พบว่าค่าเฉลี่ยของแบรนด์ที่เคลมว่า มีการทำผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจาก “ของเหลือใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร” มีเพิ่มขึ้น 48% และในต่างประเทศก็มีหลายแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจอาหารที่ผลิตจากของเหลือเหล่านั้น อย่างการเปลี่ยนกากธัญพืชในการผลิตเบียร์มาเป็นสแน็กบาร์ เปลี่ยนผลไม้ตกเกรดมาเป็นผงโปรตีน เปลี่ยนกากกาแฟมาเป็นเครื่องดื่มรสชาติอร่อย

5. Food Subscription
เทรนด์นี้จะมาในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น Home Cooking Subscription, Meal Subscription,  Cafe Subscription ไปจนถึงรูปแบบโภชนาการเฉพาะบุคคล Personalized Nutrition Subscription ที่ออกแบบโภชนาการ ด้วยการใช้เทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย และออกแบบอาหารให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์และความแตกต่างของร่างกายผู้บริโภคแต่ละคนให้มากที่สุด โดยศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย คาดว่ามูลค่าตลาด Personalized Food อาจแตะระดับ 5.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2025 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 14.2%  และผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะจ่ายสูงกว่าสินค้าปกติ 40-50% โมเดลที่ได้การตอบรับดีในต่างประเทศคือบริการจัดส่งอาหารออแกนิคเฉพาะบุคคล ที่จัดสัดส่วนของอาหารให้ตรงตามกับเป้าหมายทางด้านสุขภาพ เช่น ควบคุมน้ำหนัก เพิ่มกล้ามเนื้อ ควบคุมไขมันในเลือด เป็นต้น

6. Immunity Balance
โลกจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2050 ซึ่งกว่า 14% ของประชากรทั้งหมดจะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งองค์การสหประชาชาติ กําหนดให้ Aged Society นี้เป็น Global Issue หรือประเด็นสําคัญระดับโลก ประเด็นนี้มาพร้อมกับการขยายตัวของตลาดอาหารผู้สูงวัย ที่คาดการณ์ว่าขยับขึ้นไปแตะที่ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2025 โจทย์ที่สำคัญสำหรับตลาดอาหารผู้สูงวัย คืออาหารที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยเติมเต็มความต้องการสารอาหาร ที่จะช่วยเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันที่ถดถอยสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปกป้องร่างกายจากความเจ็บป่วยได้

7. 50 Shades of Milk
Mintel Global New Products Database (GNPD) พบว่า 70% ของผู้บริโภคคนไทยต้องการเห็นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ non-dairy มากขึ้น โดยนมในกลุ่ม ผลิตภัณฑ์ทางเลือกอย่างถั่วที่รวมถึงอัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ ข้าวโอ๊ต ธัญพืชและเมล็ดพืชต่าง ๆ เติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจ
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ทดแทนนมที่น่าสนใจหลากหลาย โดยล่าสุดบริษัทสตาร์ทอัพในอิสราเอลอย่าง ได้ค้นพบส่วนผสมสำคัญธรรมชาติที่พบในน้ำนมแม่ โดยใช้อัลกอรึทึมเพื่อดูการจับคู่โปรตีนหลักในน้ำนมแม่ แล้วจึงนำมาค้นหา จับคู่เพื่อเทียบกับแหล่งโปรตีนอื่น ๆ อาทิ สาหร่ายทะเล  และพืชชนิดอื่น ๆ หรือ “นมจากเซลล์” ที่คิดค้นน้ำนมจากการนำเนื้อเยื่อนั้นไปเพาะเลี้ยงในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ (Bioreactor) เพื่อสร้างเป็นน้ำนมออกมา ซึ่งจะทำให้ได้รับน้ำนมที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด อุดมไปด้วยองค์ประกอบทางเคมีที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

8. Digitalization
ผู้ผลิตอาหารในต่างประเทศมีการตื่นตัวอย่างมากในการนำ Machine Learning จาก AI และ Big DATA มาใช้เพื่อช่วยให้สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายและคู่แข่ง ตลอดเข้าใจแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นให้ตลาด เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีคาดการณ์และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดในกระบวนการผลิต เช่น รูปร่างและน้ำหนักที่ผิดรูปแบบ ถังขยะอัจฉริยะที่ใช้กล้อง AI วัดปริมาณและจำแนกชนิดของ Food Waste เพื่อให้ผู้ประกอบการคาดการวัตถุดิบที่ช่วยลดของเหลือและลดต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต นอกจากนี้ ผู้บริโภค 3 ใน 5 คน ยังกล่าวว่าพวกเขาเล่นเกมส์และใช้ชีวิตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งแบรนด์อาหารสามารถเข้ามามีส่วนร่วมแบบ ‘game-ify’ กับผู้บริโภคได้มากขึ้น

9. Fantastic “Protein” and where to find them
ปัจจุบันผู้บริโภคมีการรับรู้ถึงความสำคัญของการบริโภคโปรตีนให้เพียงพอมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีความท้าทายเกี่ยวกับแหล่งโปรตีนจากการประมงและปศุสัตว์มากขึ้น ทั้งในประเด็น Animal Welfare และ  Climate Change รวมไปจนถึงกฎหมายที่กระทบ อาทิ กฎหมายแรงงาน กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตามความต้องการของผู้บริโภคก็มีแนวโน้มที่จะบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้อยลงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น 1 ใน 3 ของผู้บริโภคชาวอินเดีย ให้คำมั่นว่าจะรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์น้อยลง

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นโอกาสที่สำคัญของแหล่งโปรตีนใหม่ ๆ ของโลก ได้แก่ โปรตีนทางเลือกจากพืช (Plat-Base Protein) โปรตีนจากแมลง (Insect – Based Protein) โปรตีนสังเคราะห์จากเซลล์ (Cultured meat, Cell-Based Protein) โปรตีนจากอากาศ (Air Protein) และโปรตีนจากเชื้อรา (Mycoprotein) ซึ่งล้วนมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน สามารถตอบโจทย์ที่หลากหลายในการบริโภคโปรตีนได้

ทั้ง 9 เทรนด์ข้างต้นนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป นวัตกรรมและเทคโนโลยีส่วนผสมอาหารต่าง ๆ ที่ล้ำหน้านำสมัยเหล่านี้ เตรียมพร้อมให้ได้สัมผัสอย่างเป็นรูปธรรมใน งานแสดงนวัตกรรมส่วนผสมอาหารแห่งเอเชีย ครั้งที่ 25 หรือ Fi Asia 2022 ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2565 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ https://online.fiasia.com/registration/E3alr7suu2Edm0FvjbFijyLr

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเจาะลึกเทรนด์อาหารประจำปี 2565  สามารถดาวน์โหลดอีบุ๊ก “Fi Asia 2022 Food Trends E-Book” ได้ที่
https://bit.ly/3Rx4yeX

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments