วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกNewsการสัมมนาเพื่อสรุปผลการขับเคลื่อนภารกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ “ความร่วมมือสู่ความสำเร็จ (Partnership for Success)”

การสัมมนาเพื่อสรุปผลการขับเคลื่อนภารกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ “ความร่วมมือสู่ความสำเร็จ (Partnership for Success)”

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 สำนักงาน ป.ย.ป. ได้จัดการสัมมนาเพื่อสรุปผลการขับเคลื่อนภารกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ “ความร่วมมือสู่ความสำเร็จ (Partnership for Success)” โดยได้รับเกียรติจากรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) กล่าวมอบนโยบายและแนวทางความร่วมมือสู่ความสำเร็จ (Partnership for Success) ในอนาคตให้แก่กลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 250 คน ณ ห้องประชุม Grand Ballroom ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพมหานคร (พระราม 9)

การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปผลการดำเนินงานสำคัญของสำนักงาน ป.ย.ป. ที่เป็นงานขับเคลื่อนเชิงบูรณาการร่วมกับกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง และหน่วยงานพันธมิตรจากภาคส่วนต่าง ๆ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในช่วงที่ผ่านมา และเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติจากกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง ส่วนราชการ และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนารูปแบบ กระบวนงานของสำนักงาน ป.ย.ป. ในระยะต่อไป ซึ่งในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ นางชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. ได้กล่าวถึงภารกิจหลักของสำนักงาน ป.ย.ป. 5 ประการ ได้แก่ (1) Align ถ่ายทอดนโยบายและเชื่อมโยงส่วนราชการให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด (2) Enable สนับสนุน ส่วนราชการให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุผล (3) Integrate บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างต้นแบบนโยบาย และร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นเอกภาพตลอดห่วงโซ่คุณค่า (4) Open หรือ Catalyse เร่งการขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุผลได้รวดเร็วขึ้น และ (5) Unlock ลดข้อจำกัดในการขับเคลื่อนนโยบาย เช่น การยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย ซึ่งภารกิจ AEIOU ดังกล่าวเปรียบเสมือนการที่สำนักงาน ป.ย.ป. เป็นสระที่มีความจำเป็นในการสรรสร้างให้เกิดเป็นคำ

จากนั้นเป็นการบรรยายพิเศษในหัวข้อ e Document เพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างยั่งยืน (Enabler of Digital Government with e Document) โดยศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และการเสวนาในประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ใน 3 หัวข้อ ดังนี้

  1. ความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Partnership for Policy Implementation: Policy Innovation Lab) โดยหม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. นายอภิชาต จงสกุล รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข และนายชูสิน วรเดช ศึกษาธิการภาค 6 และดำเนินการเสวนาโดยนางสาวรานี อิฐรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. สาระสำคัญของการเสวนาเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation Lab) ภายใต้หลักสูตร ป.ย.ป. ว่า กระบวนการ Design Thinking ที่สำนักงาน ป.ย.ป. นำมาใช้ ช่วยปรับรูปแบบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐให้นำมุมมองจากมิติภายนอก (Outside-In) มาประกอบการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน ทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างตรงเป้าและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

หัวข้อที่สอง คือ e-Document เพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างยั่งยืน (Enabler of Digital Government with e-Document) โดยนางสาววรพรรณ เลิศไกร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
สำนักนายกรัฐมนตรี นายณัฐพงษ์ พงษ์วิทยานุกฤต ผู้อำนวยการกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายชรินทร์ ธีรฐิตยางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และ ดร.ภูนท สลัดทุกข์ เลขาธิการสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย ดำเนินการเสวนาโดย นางสาว ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย ผู้อำนวยการกองนวัตกรรม สาระสำคัญของการเสวนาเป็นการนำเสนอให้เห็นการดำเนินงานที่ผ่านมาในการขับเคลื่อนการใช้ระบบ e-Document ในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสำนักงาน ป.ย.ป. มีบทบาททั้งเป็นหน่วยงานนำร่อง (Sandbox) และหน่วยงานขับเคลื่อนสนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการร่วมกับคณะทำงานเพื่อให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนการใช้ระบบ e-Document แก่หน่วยราชการด้วย ซึ่งในการเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาและปรับระบบวิธีการปฏิบัติราชการให้ทันสมัย ขยายผลในการสนับสนุน ส่งเสริม ปรับปรุงระบบ e-Document รวมทั้งมีช่องทางการรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของประชาชนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทผ่านทาง Line Chatbot @thaivoice ระบบเสนอแนะข้างทำเนียบ ซึ่งสามารถใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือได้ด้วย

และหัวข้อที่สาม คือ ความร่วมมือในขับเคลื่อนเพื่ออากาศสะอาดสำหรับทุกคน (Partnership for Clean Air) โดยนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน ร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนายอรรถพล  เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ดำเนินการเสวนาโดยนายแพทย์ธงธน เพิ่มบถศรี ผู้อำนวยการกอง 2 สาระสำคัญของการเสวนาเป็นการนำเสนอผลจากการขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด จากการดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด ซึ่งมีนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เป็นประธานคณะทำงาน มีผู้แทนจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน และสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีประเด็นที่นำมาพิจารณา ได้แก่ (1) ฝุ่นควันข้ามแดน และ (2) แนวทางการจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 การรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อแลกเปลี่ยนต่าง ๆ เหล่านี้จะมีการรวบรวมเพื่อไปดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดต่อไป

ในช่วงท้ายของการจัดงาน นางชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. ได้กล่าวสรุปภาพรวม
ผลการดำเนินงาน ความร่วมมือสู่ความสำเร็จ (Partnership for Success) และเชิญนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบาย และแนวทางความร่วมมือสู่ความสำเร็จ (Partnership for Success)
ในอนาคต ให้แก่กลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง จากนั้นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ผู้บริหารสำนักงาน ป.ย.ป. และผู้เข้าร่วมงาน  ได้เดินเยี่ยมชมบูทชมการจัดแสดงผลงาน โครงการและประเด็นสำคัญที่มีการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ “ความร่วมมือสู่ความสำเร็จ (Partnership for Success) Success)” ซึ่งเป็นโครงการที่จะดำเนินการสำเร็จไม่ได้หากปราศจากความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมติดตามขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวร่วมกับเครือข่ายกลุ่ม ป.ย.ป. และหน่วยงานเจ้าของโครงการด้วย

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments