วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกNewsสวค. วางโมเดลศาสตร์ด้านวิศวกรรม จัดการทรัพยากรสุขภาพในรพ.

สวค. วางโมเดลศาสตร์ด้านวิศวกรรม จัดการทรัพยากรสุขภาพในรพ.

สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ   ภายใต้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การประยุกต์ศาสตร์ทางวิศวกรรม ในการจัดการทรัพยากรสุขภาพของโรงพยาบาล” เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ โดยมีผู้บริหารโรงพยาบาล ผู้บริหารการพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม ทางonline และonsite กว่า 100 คน 

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการระบาดของโควิด-19 หน่วยบริการด้านสาธารณสุข ได้มีการนำ ระบบเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรด้านสาธารณสุข ในบางพื้นที่ เช่น ระบบการฉีดวัคซีนที่จังหวัดนครราชสีมา ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลของโรงพยาบาลในพื้นที่ เช่น การหาเตียงว่าง หาเครื่องเอกซเรย์ปอด อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์ที่เกิดการระบาดโควิด-19 จำเป็นต้องใช้ศาสตร์และองค์ความรู้หลายด้านมาใช้ในการจัดการทรัพยากรสุขภาพ รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
“ช่วงแรก ที่ขาดแคลนชุดพีพีอี เราก็ได้สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอเข้ามาช่วยเหลือ แล้วก็มีเรื่องระบบดิจิตอล อย่างไรก็ตาม หากเกิดสถานการณ์แบบเดิม และมีการระดมกำลัง หากใช้ระบบสาธารณสุขแบบเดิมๆ ก็จะเหน็ดเหนื่อยกันมาก จึงมองว่าถ้านำศาสตร์ด้านวิศวกรรมอุตสาหกรรม ที่ใช้ในการวางแผนทรัพยากร เข้ามาช่วย น่าจะเป็นทิศทางที่ดี ซึ่งการสัมมนาในวันนี้ จะมีการถอดบทเรียน นำไปทำเป็นโมเดล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ งานด้านสาธารณสุข ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงประสิทธิผลที่ประชาชนจะได้รับด้วย” นายแพทย์โสภณ กล่าวและว่า จากโมเดลการบริหารจัดการโดยใช้หลักวิศวกรรม ที่ผ่านการถอดบทเรียน เชื่อว่า  หากเกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่ อย่างโรคฝีดาษวานร ที่กำลังวิตกกัน ในขณะนี้ ระบบสาธารณสุของประเทศไทยสามารถที่จะรับมือได้

ดร.กฤษดา แสวงดี หัวหน้าทีมนักวิจัยและ อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า จุดเด่นที่ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทย ประสบความสำเร็จ คือสังคมมีการตื่นตัวและมีความเข้าใจสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ถึงตอนนี้ ประชาชนเริ่มเข้าใจแล้วว่า การรักษาโรคไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล  ในภาวะวิกฤติ ทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ต่างให้ความสนใจการใช้สื่อออนไลน์  และจากบทเรียนของบุคลากรทางการแพทย์ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาสกิล(skill) ในการรักษา ทำให้สามารถทำงานรักษาคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว

“นอกจากนี้ยังพบว่าการบรรจุสิทธิ์บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขกว่า 30,000 ตำแหน่งเป็นข้าราชการ ทำให้เกิดขวัญและแรงจูงใจในการทำงานหนัก ไม่เช่นนั้นเราอาจประสบกับปัญหาบุคลากรลาออก ทำให้ไม่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลน อย่างไรก็ตามจุดอ่อนที่พบตอนนี้คือที่ผ่านมาใช้วิธีการขยายงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้บุคลากรเหนื่อยล้า เราจึงคาดหวังว่า ศาสตร์ด้านวิศวกรรม ที่จะใช้ในการวางแผนทรัพยากร และการออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ น่าจะเป็นทางเลือกที่สำคัญ”
สำหรับตัวอย่าง การใช้ศาสตร์ทางวิศวกรรม ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรสุขภาพ ได้แก่ 1.การคาดการณ์ผู้ป่วยโควิด -19 เพื่อเตรียมทรัพยากรให้เพียงพอต่อการรับมือ 2.การสร้างแบบจำลองเพื่อดูแลการให้บริการฉีดวัคซีน 3.แนวทางการรับมือ การระดมทรัพยากร หรือที่เรียกว่า  surge capacity ด้วยการขยายหน่วยย่อย icu พร้อมทรัพยากรและกระบวนการทำงานที่จำเป็น 4. การจัดตารางเวรเจ้าหน้าที่ด้วยโมเดลคณิตศาสตร์  เป็นต้น
ด้าน ดร.นพ.ฑิณกร โนรี สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ กล่าวว่า ภายหลังจากการสัมมนาครั้งนี้ จะได้มีการนำเอาแนวคิดและวิธีการของศาสตร์ทางด้านวิศวกรรม มาประยุกต์เพื่อใช้ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรต่อไป


RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments