
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ที่ห้องรีเจนซี่ 4 โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพ สุขุมวิท นายณพ ณรงค์เดช นักธุรกิจชื่อดัง เปิดแถลงข่าวถึงกระแสข่าวร้อนกรณีมี “ตุลาการระดับสูง 2 คนตกเป็นข่าวพัวพันสินบนร้อยโล” (100 ล้านบาท) และทั้งสองคนนี้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีความข้อพิพาทในครอบครัวณรงค์เดช ส่งผลให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาล และรองอธิบดีในศาลแห่งหนึ่ง เนื่องจากถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้คู่ความ
สำหรับเนื้อหาการแถลงข่าวในภาพรวมของนายณพ มีดังนี้
สวัสดีสื่อมวลชนทุกท่านครับ ผมขอขอบคุณที่สละเวลามาร่วมรับฟังข้อเท็จจริงในวันนี้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผมได้แถลงผลของคำพิพากษาซึ่งให้ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีปลอมลายเซ็นต์ โดยพิพากษายกฟ้องทั้งสองคดี ตามหลักฐานที่ผมได้แถลงไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วครับ
เนื่องจากช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีประเด็นเรื่อง “ร้อยโล” ที่สื่อและสาธารณชนให้ความสนใจในวงกว้าง ผมจึงตัดสินใจที่จะขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องขออภัยที่เป็นการแถลงแบบกะทันหัน
ประเด็นแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2565 ผมได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมกับคณะกรรมการตุลาการ เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในคดีที่เกิดขึ้นในศาลแห่งหนึ่ง ซึ่งมี 2 คดี คดีแรกโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์คืน และมีการขออายัดเงินปันผลแบบฉุกเฉิน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองตั้งแต่ปี 2563 ต่อมาศาลอุทธรณ์ ได้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวไปเมื่อ วันที่ 11 พฤษภาคม 2565
หลังจากนั้นเพียง 8 วัน คือในวันที่ 19 พ.ค. 2565 ในระหว่างที่ผมดำเนินการขอรับเงินปันผล ได้มีการยื่นฟ้องในประเด็นเดียวกันว่าผิดสัญญา และเรียกทรัพย์คืน เพียงแต่เปลี่ยนตัวโจทก์เป็นบุคคลอื่นในกลุ่มเดียวกัน และศาลเดิมก็ได้พิจารณา และมีคำสั่งอายัดเงินปันผลทันทีอีกครั้ง และมีผลมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ศาลได้พิพากษายกฟ้องไปแล้วตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2566 แต่คำสั่งอายัดเงินปันผลยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งมาถึงวันนี้เป็นเวลาสองปี
ปัจจุบันเงินปันผลที่ถูกอายัดมีมูลค่ากว่า 3,700 ล้านบาท ซึ่งถ้านับตั้งแต่คดีแรก เงินก้อนนี้ถูกอายัดตั้งแต่ปี 2563 คำนวณดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากเงินปันผลนี้ คร่าวๆ ประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายผมเป็นผู้แบกรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว และได้รับผลกระทบทั้งทางธุรกิจ และครอบครัวมหาศาล
หลังจากมีคำพิพากษา ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้คำสั่งอายัดเงินมีผลต่อไป โดยศาลฯ มีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกัน 100 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวน 100 ล้าน ผมและทุกคนทราบดี ว่าเงินประกันศาลเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร นอกจากนั้น ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับคำสั่งอายัด โดยโจทก์ได้ขอคุ้มครองหุ้น ซึ่งอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าของจำนวนเพียงประมาณ 31 ล้านหุ้น ส่วนอีก 10 ล้านหุ้นที่เหลือ โจทก์เองก็ยอมรับว่าเป็นหุ้นของผม แต่ศาลมีคำสั่งให้อายัดหุ้น 41 ล้านหุ้น ซึ่งมากกว่าคำขอของฝ่ายโจทก์ ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ฝ่ายผมจึงจำเป็นต้องยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการตุลาการ หรือ “ก.ต.” ตั้งแต่ 31 พฤษภาคม 2565 จนล่าสุด วันที่ 28 ม.ค. 2568 ก.ต. มีมติที่ประชุมตั้งสอบวินัยร้ายเเรงต่อ 2 อดีตผู้บริหารศาลระดับ “อธิบดี-รองอธิบดีศาล” และต่อมายังได้มีคำสั่งพักงานอดีตอธิบดีของศาลคนดังกล่าวด้วย
สำหรับเรื่อง “ร้อยโล” เป็นหนังสือที่อดีตรองอธิบดีฯ ที่ถูกร้องเรียนส่งเข้าไปในสำนวนของ ก.ต. หลังจากถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ว่าได้รับการเสนอจากอธิบดีของศาลแห่งหนึ่งในเวลานั้น ซึ่งยังปรากฏหลักฐานว่าอธิบดีฯ ท่านนั้นมีการเข้าออกบ้านของคู่กรณีอีกด้วย โดยเงิน “ร้อยโล”ในหนังสือของรองอธิบดีฯ ได้ระบุวันเวลาและสถานที่ที่ชัดเจน อยู่ในช่วงเดือน สิงหาคม ปี 2565 ในขณะที่เงิน 100 ล้านบาท ที่โจทก์นำมาวางเป็นเงินประกันศาล คือวันที่ 26 ก.ค. 2566 ซึ่งจะเห็นได้ว่า “ร้อยโล” กับ “ร้อยล้าน” เป็นคนละวัน คนละเดือน คนละปีนะครับ โดยข้อความในหนังสือของอดีตรองอธิบดีฯ ทำให้ทราบว่ามีการเสนอสินบนร้อยโล ซึ่งผมเองได้รับทราบจากสื่อเช่นเดียวกัน เพราะเรื่องที่ฝ่ายผมร้องเรียนไปไม่เกี่ยวกับเงินร้อยโล
นายณพ กล่าวว่า มากไปกว่านั้น หนังสือของอดีตรองอธิบดีฯ ยังได้ยัดเยียดความผิดที่น่ารังเกียจนี้ให้กับผม ว่ามีการให้สินบนเพื่อจะขอปลดคำสั่งอายัดเงินปันผลหุ้น ทั้งๆ ที่ผมเป็นผู้ร้องเรียน ซึ่งกรณีนี้ผมได้ไปร้องทุกข์ กับบก.ปปป. หรือ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบไว้แล้วเพื่อให้ตรวจสอบหาตัวการเรื่อง “ร้อยโล”
“ตลอดระยะเวลาเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา ผมต้องตกเป็นจำเลยทั้งในคดีแพ่ง และคดีอาญาหลายคดี ก็ได้ใช้ความจริงและข้อเท็จจริงพิสูจน์ความถูกต้องตามระบบยุติธรรมมาโดยตลอด ผมยังเชื่อมั่นในกระบวนการพิจารณา และไม่อยากให้ระบบยุติธรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้ต้องแปดเปื้อนเพราะคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์เหล่านี้ จะไม่เกิดขึ้นกับประชาชนคนอื่นๆ อีก และอยากให้ระบบยุติธรรมของบ้านเราเป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทยต่อไป” นายณพ กล่าว