
งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาคเกษตร การปรับตัวต่อสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงในด้าน ภูมิอากาศ เทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว การขับเคลื่อนการเกษตรที่ยั่งยืน เป็นความท้าทายที่เป็นส่วนหนึ่งในการตอบโจทย์หลักของยุทธศาสตร์การสร้างสรรค์ศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน (SDGs)
เครือข่ายคณะเศรษฐศาสตร์และเกษตรศาสตร์จาก 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย พร้อมด้วยสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยฯ และ Leibniz University Hannover เยอรมนี ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการพร้อมกัน 3 การประชุมได้แก่ The International Conference of Economists,18th National Conference of Economists (การประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ครั้งที่ 18) และ18th Graduate Conference in Economic (การประชุมวิชาการระดับบัณฑิตศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 18) 2025ภายใต้ธีม”Transforming Economies for Equity, Stability, and Sustainability: The Power of Diversity” (การปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ความเท่าเทียม เสถียรภาพ และความยั่งยืน: พลังแห่งความหลากหลาย) ที่อาคารปฏิบัติการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“งานประชุมในครั้งนี้จะเป็นสนามให้นักวิชาการเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ รวมถึงนักวิชาการจากต่างประเทศ ได้มารวมตัวกันเพื่อที่จะได้นำเอาองค์ความรู้ ประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สิ่งที่คาดว่าจะได้จากการประชุมครั้งนี้คือ ไอเดียจากนักวิชาการไทยและต่างประเทศ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเอาแนวความคิด มาวิเคราะห์สังเคราะห์และสกัด พร้อมจัดทำเป็นข้อเสนอจาก ม.เกษตรศาสตร์ ไปนำเสนอรัฐบาลหรือสังคม ว่าประเทศไทยควรจะเดินทางอย่างไรในเรื่องเศรษฐกิจ ในยุคที่สังคม ความเจริญเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงยุคที่ต้องการความมั่นคงยั่งยืนทางด้านสภาพภูมิอากาศ” ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว
งานนี้รวมพลังทางวิชาการจาก 13 คณะใน 10 มหาวิทยาลัยไทย (ม.เกษตรศาสตร์, ม.เชียงใหม่, จุฬาฯ, ม.ขอนแก่น, นิด้า, ม.สงขลานครินทร์, ม.รามคำแหง, ม.ศรีนครินทรวิโรฒ, ม.ธรรมศาสตร์, ม.แม่โจ้) ร่วมกับสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยฯ และ Leibniz University Hannover สาระหลักในการประชุมเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยในด้านเศรษฐศาสตร์ในด้านการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายที่ส่งผลต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม ความมีเสถียรภาพ และความยั่งยืน ซึ่งสามารถบูรณาการกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)เพื่อผลักดันไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย
ด้าน ผศ.ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย 3 งาน คือ 1) การประชุมระดับนานาชาติของนักเศรษฐศาสตร์ 2) การประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 18 และ 3) การประชุมวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ ในระดับบัณฑิตศึกษา ครั้งที่18 ซึ่งโดยปกติจะมี 9 สถาบันที่เป็นองค์กรร่วมจัดงาน
“ในปีนี้พิเศษกว่าทุกปีคือมีผู้เข้าร่วมจาก13 สถาบัน ส่วนการประชุมในระดับนานาชาติ จะมีนักวิชาการเข้าร่วมรวมประเทศไทยด้วยแล้ว เป็นจำนวน 9 ประเทศ และมีการนำเสนอผลงานวิชาการคู่ขนานแบ่งออกเป็น 9 ห้องประชุม รวมผลงานนำเสนอ 50 บทความ หลังจากการประชุมแล้วจะมีการจัดทำข้อเสนอว่าแนวทางในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ในการที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทย มีเสถียรภาพลดความเหลื่อมล้ำและมีความยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งในเรื่องของความยั่งยืนนั้น เป็นทั้งเป้าหมายของคณะเศรษฐศาสตร์ และเป้าหมายของทางมหาวิทยาลัยด้วย ถือเป็นพันธกิจที่สำคัญ ที่จะต้องช่วยกันทั้งชาวไทยและต่างชาติ” ผศ.ดร.วิศิษฐ์ กล่าว
การจัดประชุมในครั้งนี้ ยังได้มีการจัดทำโครงการเศรษฐทัศน์ ประจำปี 2568 ซึ่งเป็นการประกวดบทความทางวิชาการ ที่สนับสนุนโดยธนาคารแห่งประเทศไทย มีนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี, โท และเอก ส่งบทความทางวิชาการมาร่วมแข่งขันจำนวน 30-40 บทความ ผ่านเข้ารอบเหลือเพียง 10 บทความ แบ่งเป็นปริญญาตรี 5 บทความ, ปริญาโทและเอก 5 บทความ
กล่าวได้ว่านอกจากเป็นการประชุมที่พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ (ประเทศเยอรมัน สหรัฐอเมริกา สเปน เวียดนาม อินเดีย จีน อินโดนีเซีย ลาว) แล้ว ยังเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยสู่การตีพิมพ์ระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับ QS Ranking ของสถาบันอีกด้วย